“โดมิโน”ถ้าพูดถึงตัวต่อชิ้นนี้แล้วละก็ ใครๆก็คงเคยเล่นกันสนุกสนานในวัยเด็กมาทั้งนั้น เราสนุกกับการเรียงโดมิโนต่อกันไปเรื่อยๆ และพอถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ความยาวของโดมิโนเป็นที่น่าพอใจ เราก็ผลักโดมิโน 1 ตัวให้ล้มครืดดดด และที่เหลือก็จะพากันล้มต่อๆไป…. แต่เราเคยคิดไหมว่า ของเล่นวัยเด็กของเรามีแนวคิดดีๆแฝงไว้ให้เราอย่างไม่รู้ตัว
ทฤษฎีโดมิโน
ทฤษฎีนี้แต่เดิมถูกคิดค้นขึ้นโดย H.W. Heinrich เดิมทีจะถูกนำไปใช้ในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศมากกว่า ทฤษฎีนี้สร้างจากเรื่องที่ว่า โดมิโน 1 ตัว สามารถล้มโดมิโนตัวถัดไป และล้มไปเรื่อยๆเป็นแถบ แต่ในทางกลับกัน เราลองเปลี่ยนมุมมองว่า โดมิโนหนึ่งตัว สามารถล้มโดมิโนที่ขนาดใหญ่กว่าตัวเอง 50% ถ้าเราสร้างตัวโดมิโนที่ใหญ่ขึ้นๆ ต่อเรียงกันไปเรื่อยๆ มันอาจจะสามารถล้มโดมิโนที่สูงเท่ากับตึกที่สูงที่สุดในโลกก็ได้ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาตัวเอง บรรลุเป้าหมายขนาดใหญ่กว่าตัวเอง โดยใช้วิธีการ Domino Effect
จากหนังสือ The one thing ของผู้เขียน Gary Keller ได้พูดถึง Domino Effect กับการใช้ชีวิตว่า
เมื่อเราตั้งความสำเร็จของชีวิตไว้ขนาดใหญ่และดูไกลถึงดวงจันทร์ เปรียบเสมือนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของเรา การจะพิชิตมันนั้น เราต้องรู้จัก “จัดลำดับความสำคัญของงาน” เราควรจะเรียงโดมิโนในชีวิตเราแต่ละตัว ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีทางลัด แต่ให้ค่อยๆสร้างมันทีละขั้นตอน คุณต้องเริ่มมันจากจุดเล็กๆ ด้วยการสร้างโดมิโนเล็กๆขึ้นมาก่อน เริ่มต้นสร้างเป้าหมายเล็กๆขึ้นมา ลงมือทำ สร้างมันไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป ซึ่งโดมิโนตัวสุดท้ายในชีวิตคุณหรือเป้าหมายเท่าดวงจันทร์ของคุณนั้น ต่อให้เป็นตัวที่ใหญ่ยักษ์แค่ไหน มันก็จะล้มทลายลงมาตามที่คุณต้องการในที่สุด
ดังนั้น ความสำคัญของ Domino Effect คือ การจัดลำดับความสำคัญของโดมิโนในชีวิตแต่ละตัว
หากเราเริ่มต้นสร้างตัวแรกได้ และตั้งตัวเริ่มสร้างตัวถัดไป โดยตั้งเป้าหมายให้ขนาดใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณจัดการโดมิโนตัวแรกได้ โดมิโนตัวถัดๆไปก็จะถูกพิชิตได้ ถึงแม้ว่าเป้าหมายของคุณจะใหญ่ขนาดไหน ท้ายที่สุดแล้วคุณก็พิชิตมันได้แน่นอน
…………………………………………………………………….
แชร์ประสบการณ์ฉบับแม่ค้าออนไลน์ หรือมีข้อมูลดีๆมาบอกต่อ ร่วมเม้ามอยท์ พูดคุยได้ที่นี่
สมาคมคนขายของและบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ by SHIPNITY
( Link : https://www.facebook.com/groups/1865849733720233/?source_id=805427532888306)
ขอบคุณเค้าโครงจาก http://www.saroopbook.com