You are currently viewing ถึงธุรกิจเล็กแต่แบรนด์ใหญ่ : 10 วิธีสร้างแบรนด์ยังไงให้น่าจดจำ

ถึงธุรกิจเล็กแต่แบรนด์ใหญ่ : 10 วิธีสร้างแบรนด์ยังไงให้น่าจดจำ

” ธุรกิจเราเล็ก ๆ ไม่ต้องสร้างแบรนด์อะไรมากหรอกมั๊ง ” หรือ “เราไม่ใช่บริษัทใหญ่ๆ ไม่จำเป็นจ่ายเงินเพื่อสร้างชื่อแบรนด์มาก เพราะมันสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ”  ตัวอย่างสิ่งเหล่านี้ บางครั้งเป็นการสร้างความเชื่อที่ผิด เพราะถ้าสินค้าเราดี สุดยอดคุณภาพ แต่ชื่อจำยากแล้วละก็ คงไม่มีลูกค้าคนไหนมีความอดทนพอที่จะหาชื่อธุรกิจเรา ที่แย่กว่านั้นอาจจะหันไปใช้บริการคู่แข่งแล้วเกิดติดใจเข้าได้ แถมหากเคยใช้บริการสินค้าของเรามาก่อน อุตส่าห์ถูกใจเต็มปังเข้าให้แล้ว แต่พอจะแนะนำบอกต่อทีไร ชื่อช่างจำยากเสียจริง นั่นจะทำให้เราสูญเสียลูกค้าในอนาคตอีกมากมายไปอย่างน่าเสียดาย แต่วันนี้เรามีทริค 10 ข้อมาให้ลองทำกัน เพื่อไปสร้างแบรนด์ให้ปังกันไปเลย 

เข้าใจกันก่อน แบรนด์สำคัญอย่างไร ?

    ชื่อเสียงของแบรนด์นั้น แม้ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่การสร้างแบรนด์สำคัญพอๆกับบริษัทใหญ่ๆ ในความเป็นจริงแล้วหลายๆองค์กรใหญ่ๆ พยายามที่จะทำให้ดูเหมือนกับเป็นบริษัทเล็กให้มากที่สุดเพื่ออยากดึงดูดความสนใจแก่กลุ่มลูกค้าที่นิยมชมชอบสนับสนุนแบรนด์ที่เป็นอิสระ

    Dan Einzig  แห่งเอเจนซี Mystery ได้อธิบายถึงวิธีที่จะพัฒนาแบรนด์ของคุณให้มีเอกลักษณ์ โดดเด่นในแบบฉบับตัวตนของธุรกิจคุณ ว่า “ฉันได้พูดคุยกับบรรดาเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กมามากมาย พวกเขามักเข้าใจอยู่แล้วว่าการสร้างแบรนด์นั้นสำคัญแก่ธุรกิจของเขา แต่ฉันแปลกใจสุดๆว่า หากวัดเป็นตัวเลขออกมานั้น มีจำนวนมากเลยทีเดียวที่ไม่รู้จริงๆทำไมจะต้องสร้างแบรนด์ขึ้นมา ” 

     “พวกเขาตระหนักดีว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ย่อมมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และพวกเขาพยายามมุ่งมั่นสร้างแบรนด์ของพวกเขาเองให้ประสบสำเร็จเหมือนกัน นอกจากนี้พวกเขายังเข้าใจดีว่าการสร้างแบรนด์นั้นไม่ใช่เพียงสร้างโลโก้หรือทำให้ธุรกิจของพวกเขามีการรับรู้จากภายนอก แต่นักธุรกิจส่วนน้อยจริงๆที่จะตระหนักว่า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมักจะใช้การสร้างแบรนด์เป็นหัวใจหลักของธุรกิจ 


การสร้างแบรนด์ดีอย่างไร ?

      การสร้างแบรนด์เป็นหนทางหนึ่งที่บอกถึงตัวตน เอกลักษณ์ของตัวธุรกิจ นอกจากนี้ยังบอกถึงลักษณะทีมและการรับรู้ถึงตัวตนแบรนด์ของคุณ เรียกสรุปๆก็คือ แบรนด์ = บอกตัวตน แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า เป็นตัวตนที่บอกว่า ธุรกิจเราทำอะไร (what the business is) และมอบคุณค่าอะไร (values) ไม่ใช่เพียงภาพภายนอกผิวเผินหรือลักษณะภายนอกผิวๆ ยิ่งในยุคนี้ผู้บริโภคแทบจะทุกอุตสาหกรรมต่างฉลาดและมองออกว่าบริษัทพยายามปั้นหรือสร้างภาพลักษณ์ด้วยกลวิธีต่างๆนานา เพื่อเพิ่มยอดขายของบริษัท

 ประโยชน์ที่แบรนด์จะได้รับนั้นเปรียบเสมือนช่วงเวลาที่คู่รัก 2 คนต่างตกหลุมรักซึ่งกันและกัน เมื่อลูกค้าได้เชื่อมโยงกับแบรนด์ด้วยอารมณ์เนื่องจากพวกเขามองเห็นคุณค่า(values) และมีความเชื่อ (beliefs) เดียวกันกับแบรนด์ นั่นจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น และมูลค่าแบรนด์สูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีเพิ่มขึ้น สนับสนุนบริษัท และปกป้องราคาสินค้าของบริษัทได้ตอนที่คู่แข่งจัดโปรโมชัน นอกจากนี้ชื่อเสียงแบรนด์ยังสามารถเป็นตัวช่วยที่สร้างยอดขายให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

ต่อไปนี้เป็น 10 วิธีที่ช่วยให้คุณสร้างแบรนด์ได้ง่ายขึ้น

1.เริ่มต้นด้วยการกำหนดเอกลักษณ์ของแบรนด์ขึ้นมา

       ทบทวนก่อนว่าลักษณะสินค้าหรือบริการของบริษัทที่จะนำเสนอเป็นอย่างไร ศึกษาคู่แข่งในตลาดที่มีอยู่และค้นคว้าความต้องการของลูกค้าไม่ว่าจะด้านอารมณ์หรือเหตุผล 
ลักษณะแบรนด์ของคุณควรจะโปรโมทตัวธุรกิจในตัว เชื่อมโยงกับกลุ่มลูกค้า และสร้างความแตกต่างในตลาด

2.คิดจะสร้างแบรนด์ ให้คิดถึงตัวตนของคนๆหนึ่ง

       ปกติคนเรามักจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถูกหล่อหลอมจากความเชื่อ คุณค่าและความต้องการของแต่ละคน ซึ่งจะบ่งบอกถึงสิ่งที่เราเป็นและคนที่เราเชื่อมโยง บุคลิกของเราเป็นตัวกำหนดว่าเราจะปฎิบัติตนในสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไรไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายของเรา สิ่งที่เราพูดและแสดงออก  แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะพิจารณาว่าตัวตนบุคลิกเราเป็นอย่างไร แต่เมื่อเราจะสร้างแบรนด์ มันสำคัญอย่างมากที่ต้องทำความเข้าใจและสื่อสารมันออกมาให้ได้

3.พิจารณาว่าอะไรที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ 

       อะไรคือความเชื่อ ความประสงค์ของแบรนด์ และใครเป็นฮีโร่ต้นแบบของแบรนด์ คำถามเหล่านี้จะช่วยสร้างเอกลักษณ์ กำหนดตำแหน่งของแบรนด์ และถือเป็นการสื่อสารถึงตัวตน บุคลิกของแบรนด์ออกมา

4.ตั้งเป้าหมายไปเลยว่าจะสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าของเรา 

       อย่ายื่นข้อเสนอบางอย่างที่สร้างความคาดหวังแก่ลูกค้ามากเกินไป จนเป็นผลให้บริษัทผิดสัญญาภายหลัง จงสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์ ทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่าบริษัทเป็นใครและลงมือปฎิบัติให้ได้จริงตามคำสัญญาของบริษัทที่ให้ไว้ 

5.พูดคุยกับลูกค้าด้วยน้ำเสียงที่คงเส้นคงวา 
       การที่เราสื่อสารแก่ลูกคาอย่างคงเส้นคงวาจะช่วยเสริมให้ลักษณะบุคลิก (Character) ของธุรกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าตระหนักถึงสิ่งที่สามารถคาดหวังจากสินค้าหรือบริการของเราได้แน่นอนมากขึ้น

6.ห้ามพูดประโยคเดิมซ้ำๆ วนไปวนมา
       อีกทางเลือกหนึ่ง คือ พยายามที่จะเชื่อมประโยคใจความสำคัญ (Key messages) เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเราขึ้นมา


7.อย่าล้อเลียนธุรกิจหรือแบรนด์อื่น

       ในความเป็นจริงแล้วการพูดโดยไม่พาดพิงถึงแบรนด์อื่นนั้นจะทำให้ลูกค้าสนใจมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินค้าหรือบริการที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และน่าเชื่อถือซึ่งสามารถตอบโจทย์สิ่งที่เขาต้องการได้




8.มีความคิดริเริ่ม กล้าได้กล้าเสีย และยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองคิด

       แบรนด์ใหญ่ๆนั้นมักจะมีขั้นตอนในการดำเนินงานมาก ทำให้การอนุมัติสินค้าหรือบริการใหม่ๆนั้นต้องใช้เวลา จึงทำให้แบรนด์เหล่านั้นไม่มีความยืดหยุ่นมากนัก และไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ไวนัก ดังนั้นแบรนด์ที่ไม่ใหญ่มากนั้นจึงได้เปรียบในเรื่องของความยืดหยุ่น และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้รวดเร็วกว่า

9.พึงระลึกถึงแบรนด์ของตัวเองตลอดเวลาเมื่อคุยกับลูกค้า

       อย่าสูญเสียความภูมิใจ และจุดยืนของแบรนด์ด้วยการลดราคาให้ลูกค้า หรือพยายามให้ข้อเสนอต่างๆที่จะทำให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าหรือบริการของเรามากเกินไป แต่ให้ใช้การออกโปรโมชั่นแทน

10.อย่าใส่โลโก้แบรนด์เข้าไปในทุกอย่างของธุรกิจ

       ในอนาคตการสร้างแบรนด์นั้นจะต้องมีความยืดหยุ่น และดึงดูดลูกค้าให้มีส่วนร่วมให้ได้ รวมทั้งให้ความเคารพแก่ความคิดของลูกค้าทุกคน โดยการไม่นำแบรนด์ไปแสดงออกในทุกๆอย่างของสินค้าและบริการ แต่ให้สร้างอุบายเพื่อชักนำให้ลูกค้าของเราเข้าใจในแบรนด์สินค้าของเรามากขึ้นเอง วิธีการนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถเล่าสิ่งต่างๆที่พวกเขาได้เรียนรู้จากแบรนด์ของเรา ซึ่งมักจะดีกว่าการที่เรานำเสนอเองทั้งหมด


……………………………………………………………………..

แชร์ประสบการณ์ฉบับแม่ค้าออนไลน์ หรือมีข้อมูลดีๆมาบอกต่อ ร่วมเม้ามอยท์ พูดคุยได้ที่นี่ 
สมาคมคนขายของและบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ by SHIPNITY

(Link: https://www.facebook.com/groups/1865849733720233/?source_id=805427532888306)


ขอบคุณที่มา : www.marketingdonut.co.uk